เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน ณ ราชสีมา) เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาในสมัยรัชกาลที่ 2-3 รวมทั้งเป็นแม่ทัพคนสำคัญคนหนึ่งของไทยในสงครามปราบกบฏเวียงจันทน์ และ อานามสยามยุทธ
เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน ณ ราชสีมา) เกิดในปี พ.ศ. 2323 ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยมีมารดาคือ เจ้าหญิงยวน ราชธิดาของพระเจ้านครศรีธรรมราช รับราชการฝ่ายใน ณ ราชสำนักกรุงธนบุรี เมื่อทรงครรภ์แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงพระราชทานแก่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) ให้เป็นแม่เมือง หาได้ถือเป็นภรรยาไม่ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) จึงถือได้ว่าเป็นโอรสองค์หนึ่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเฉกเช่นเดียวกับ เจ้าพระยานคร (น้อย) และนับเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น)
ในตอนปลายรัชกาลกรุงธนบุรี ปรากฏว่าเจ้าเมืองนครราชสีมาคือ พระยากำแหงสงคราม(บุญคง กาญจนาคม) ไปราชการช่วยเหลือ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ในการสงครามกัมพูชา-ญวน และท้ายสุดเกิดการเปลี่ยนแผ่นดิน พระยากำแหงสงคราม(บุญคง) ถูกสำเร็จโทษ ตามเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ แต่บุตรหลานสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ยังเล็กไม่ได้ถูกสำเร็จโทษด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ 2 เจ้าเมืองนครราชสีมาคือ พระยานครราชสีมา (เที่ยง ณ ราชสีมา) บุตรของเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ได้ถูกมอบหมายให้นำทัพไปปราบกบฏอ้ายสาเกียดโง้ง ต่อมาในปลายรัชกาล คุณ ทองอิน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาแทนพี่ชายบุญธรรม และได้รับบรรดาศักดิ์สุดท้ายเป็น เจ้าพระยากำแหงสงคราม รามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ เจ้าเมืองนครราชสีมา
เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ได้สมรสกับท่านผู้หญิงทับทิม ธิดาพระยาสุริยเดช (ทัศน์ ราณยสุข) บุตรคนหนึ่งของเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ต่อมาท่านผู้หญิงทับทิมได้ถึงแก่กรรม จึงได้สมรสใหม่กับ ท่านผู้หญิงบุนนาค ธิดาของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) และเป็นน้องสาวของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) ต่อมามีบุตรชาย (เมฆ) ได้เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาในรัชกาลที่ 4
ในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2369 พระยาไกรสงคราม เจ้าเมืองขุขันธ์ วิวาทกับน้องชาย มีพระราชโองการให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) กับพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา ยกกำลังไปปราบปรามให้สงบ โดยให้หลวงยกกระบัตรอยู่รักษาเมือง แต่ในที่สุดกลับต้องทำการรบติดพันกับพระยาไกรสงคราม ที่เมืองขุขันธ์ ทำให้เจ้าอนุวงศ์ นำทัพลาวเวียงจันทน์ เข้ายึดเมืองนครราชสีมาโดยง่าย เมื่อความทราบถึงเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) จึงให้พระยาปลัดเมืองนครราชสีมากลับเข้าเมืองนครราชสีมาเพื่อควบคุมครัวเรือนนครราชสีมาให้รวมกันติดที่บ้านปราสาท ในขณะที่ชาวเมืองนครราชสีมา ได้ถูกกวาดต้อนไปกับกองทัพเวียงจันทน์ จากนั้นพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา คุณหญิงโมภรรยาปลัดเมือง หลวงยกกระบัตร พระณรงค์สงคราม ได้ร่วมกันนำชาวเมืองนครราชสีมาเข้าต่อสู้กับกองทัพลาวจนได้ชัยชนะในเบื้องต้นจนเกิดเป็นวีรกรรม ณ ทุ่งสำริด และกองกำลังชาวเมืองนครราชสีมาได้ตีทัพลาวที่เจ้าอนุวงศ์ส่งมาช่วยแตกพ่ายไปอีกครั้งหนึ่ง จากวีรกรรมครั้งนี้ คุณหญิงโมได้รับพระราชทานนามเป็น ท้าวสุรนารี
ในเวลาเดียวกันเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ยังรบติดพันกับกองทัพเมืองขุขันธ์และกองทัพลาว จากนั้นได้ถอยอ้อมมาทางเมืองเสียมราฐ และเข้าจังหวัดปราจีนบุรีจึงบรรจบกับกองทัพไทยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเจ้าอนุวงศ์รู้ข่าวกองทัพพระนครจึงสั่งถอยทัพออกจากเมืองนครราชสีมาและสั่งทำลายกำแพงเมืองนครราชสีมาสองด้าน พระยาไกรสงครามได้ถอยทัพไปด้วยแต่ในที่สุดถูกเจ้าอนุวงศ์สั่งประหารเนื่องจากไม่สามารถจับเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ได้ตามแผนที่วางไว้
พ.ศ. 2370 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ได้ชุมนุมทัพที่นครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ได้กลับเข้าเมืองนครราชสีมาไปเฝ้า มีรับสั่งให้คุมทัพเมืองนครราชสีมา และหัวเมืองไปช่วยกองทัพพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ต่อมาคือเจ้าพระยาบดินทรเดชา) ในการปราบเจ้าราชวศ์ที่เมืองจำปาสัก หลังจากนั้นให้ไปร่วมตีเมืองเวียงจันทน์ ในครั้งนั้นได้พบครัวเมืองปักธงชัยกลับคืนมาจากการถูกกวาดต้อนไปบริเวณเมืองสกลนคร เมื่อเสร็จสิ้นการปราบกบฏเวียงจันทน์แล้วเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ได้นำชาวเมืองนครราชสีมาบูรณะเมืองนครราชสีมาให้กลับคืนมาดีเหมือนแต่ก่อน ในครั้งนั้นกองทัพไทยได้ร่วมกันสร้างวัดสามัคคี ในบริเวณนอกกำแพงเมืองด้านเหนือ
พ.ศ. 2376 โปรดเกล้าให้ เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์) เป็นแม่ทัพใหญ่ในราชการสงครามกับกัมพูชา-ญวน (อานามสยามยุทธ) มีเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เป็นแม่ทัพหน้า และ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เป็นแม่ทัพเรือ ในครั้งนั้นทัพหน้าของเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ได้เดินทัพจนเกือบถึงบริเวณเมืองไซ่ง่อน ก่อนที่กองทัพไทยจะถูกทัพญวนตีโต้กลับมา
พ.ศ. 2377 เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ได้น้อมเกล้าฯ ถวายช้างเผือกที่พบในเขตเมืองนางรอง รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้ชื่อช้างนั้นว่า พระยามงคลนาคินทร์ อินทรไอยราววรรณ
พ.ศ. 2380 เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เป็นแม่กองบูรณะกำแพงเมืองพระตะบอง และป้อมค่ายให้เข็งแรง เพื่อเตรียมรับศึกกัมพูชา-ญวน โดยเป็นแม่ทัพใหญ่ในเขตทะเลสาบภาคตะวันออก
พ.ศ. 2386 เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ได้ล้มป่วยลง ทำให้ต้องลาพักราชการสงคราม กลับมาพักรักษาตัว ณ เมืองนครราชสีมา แต่บุตรหลานยังคงอยู่ช่วยงานราชการสงครามอยู่
พ.ศ. 2388 เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ถึงแก่กรรมด้วยความสงบ พระพรหมบริรักษ์ บุตรชายของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาคนต่อมา
ต่อมาในรัชกาลที่ 4 บุตรของเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยานครราชสีมา (เมฆ ณ ราชสีมา) บุตรอีกคนคือ พระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา (ขำ ณ ราชสีมา) ได้เป็นผู้รักษากรุงเก่า
เจ้าจอมสังวาล พระมารดาของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นธิดาของนายศัลวิชัย บุตรคนหนึ่งของเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ซึ่งรับราชการเป็นมหาดเล็กฝ่ายใน
ในรัชกาลที่ 5 พระยากำแหงสงคราม (จัน ณ ราชสีมา) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา เป็นชั้นหลานของเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน)
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้นามสกุลแก่
ตามที่ขอเปลี่ยนใหม่ และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช ๒๔๘๔ แล้วว่า "ณ ราชสีมา" (เขียนเป็นอักษรโรมัน na Rajasima) อันเป็นมงคลนาม เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ผู้เป็นต้นสกุล ซึ่งได้รับราชการประกอบคุณงามความดีแก่ นครราชสีมา และทั้งทายาทก็ได้รับราชการด้วยจงรักภักดี เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบเนื่องกันมาในจังหวัดนี้เป็นเวลาหลายรัชกาล
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าพระยานครราชสีมา_(ทองอิน)